เบื้องหลัง ของ การอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีไทย สิงหาคม–กันยายน พ.ศ. 2564

การยื่นญัตติขอเปิดการอภิปราย

เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2564 สุทิน คลังแสง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร มหาสารคาม รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย และประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน ได้เปิดเผยว่าจะมีการยื่นญัตติขออภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล โดยมุ่งเป้าที่นายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา กับรัฐมนตรีอีกไม่เกิน 5 คน เพื่อมุ่งเป้าไปที่ความล้มเหลวในการแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทยจนทำให้เกิดปัญหาอย่างต่อเนื่อง ทั้งปัญหาปากท้องของประชาชนจากการสั่งให้มีการล็อกดาวน์แบบไม่มีมาตรการรองรับ มีประชาชนเสียชีวิตอย่างต่อเนื่องเป็นรายวัน ทั้งแบบเสียชีวิตที่โรงพยาบาลสนาม เสียชีวิตอย่างไร้ญาติข้างถนน และเสียชีวิตยกครอบครัว รวมถึงมีข้อสงสัยการทุจริตในการดำเนินการแก้ไขปัญหาของรัฐบาลอันได้แก่ ข้อทุจริตการจัดซื้อวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ทั้งการปฏิเสธในการเข้าร่วมโคแวกซ์ การจัดซื้อวัคซีนโควิชิลด์ของแอสตร้าเซนเนก้าที่มีข้อสงสัยว่าทำไมไม่สามารถจัดส่งได้ตามกำหนด จนทำให้ต้องมีการสั่งซื้อวัคซีนโคโรนาแว็กของซิโนแว็กที่มีราคาสูงกว่าท้องตลาดแต่ไม่มีประสิทธิผลในการป้องกันโรคอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการกีดกันไม่ให้ภาคเอกชนสามารถจัดซื้อวัคซีนโมเดอร์นาที่ผู้แทนคือบริษัท ซิลลิค ฟาร์ม่า (ประเทศไทย) เสนอขายให้โรงพยาบาลเอกชนได้สำเร็จ และข้อทุจริตในการจัดซื้อชุดตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนาด้วยตนเองที่มีข้อสงสัยว่าทำไมองค์การเภสัชกรรมถึงได้จัดซื้อมาแพงกว่าราคาจำหน่ายปกติของท้องตลาดในต่างประเทศ โดยเหตุการณ์นี้ถือเป็นความล้มเหลวของ ระบบสาธารณสุขในประเทศไทย

สมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วยหัวหน้าพรรคร่วมฝ่ายค้านอีก 6 พรรค ได้ยื่นญัตติขออภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล รวม 6 คน (จากพรรคพลังประชารัฐ 2 คน พรรคภูมิใจไทย 2 คน พรรคประชาธิปัตย์ 1 คน และอิสระอีก 1 คน) ประกอบด้วย

รายชื่อรัฐมนตรีที่ถูกอภิปราย
ลำดับที่ชื่อ / ตำแหน่งประเด็นการอภิปราย[1]
1พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
  • บริหารราชการแผ่นดินล้มเหลว ผิดพลาดบกพร่องร้ายแรง
  • มีพฤติการณ์ฉ้อฉล ทุจริต ปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริตเพื่อสร้างความร่ำรวย มั่งคั่งให้กับตนเองและพวกพ้อง
  • ไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต เปิดเผย ปกปิดการกระทำความผิดของตนเองและพวกพ้อง
  • ล้มเหลวในการบริหารสภาวะเศรษฐกิจที่เป็นผลจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
  • ไม่มีความรอบคอบ ระมัดระวังในการใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดิน ไม่รักษาวินัยการเงินการคลังของรัฐ
  • สร้างความแตกแยกในสังคม ใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการแสวงหาผลประโยชน์และทำลายผู้เห็นต่าง
  • ปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนและสื่อมวลชน
  • ไม่ยึดมั่นและศรัทธาในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ทำลายและเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตย
  • แทรกแซงกระบวนการยุติธรรม การบริหารราชการแผ่นดิน
  • มีพฤติการณ์โอหังคลั่งอำนาจ
2อนุทิน ชาญวีรกูล
รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
  • บริหารราชการแผ่นดินล้มเหลว ผิดพลาดบกพร่องร้ายแรง
  • ล้มเหลวในการควบคุมการระบาดทั่วของโควิด-19 ในประเทศไทย จนส่งผลให้เกิดการแพร่ระบาดซ้ำอีกครั้งเป็นรอบที่สาม
  • ไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต เปิดเผย ปกปิดการกระทำความผิดของตนเองและพวกพ้อง
3สุชาติ ชมกลิ่น
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน
  • บริหารราชการแผ่นดินล้มเหลว ผิดพลาดบกพร่องร้ายแรง
  • ปล่อยปละละเลยให้มีการแสวงหาประโยชน์จากผู้ใช้แรงงาน
  • ไม่กำกับควบคุมผู้ใช้แรงงานต่างด้าวให้เป็นระบบ ปล่อยปละละเลยให้มีการลักลอบแรงงานต่างด้าวเข้าเมืองจนเป็นสาเหตุให้มีการระบาดของโรค
  • ใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่แสวงหาผลประโยชน์ เพื่อตนเองและพวกพ้อง
4ศักดิ์สยาม ชิดชอบ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
  • บริหารราชการแผ่นดินล้มเหลว ผิดพลาดบกพร่องร้ายแรง
  • เอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนผูกขาดในการดำเนินกิจการของรัฐ
  • ปล่อยปละละเลยให้องค์กรในกำกับมีการทุจริตอย่างกว้างขวาง
  • ไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต เปิดเผย ปกปิดการกระทำความผิดของตนเองและพวกพ้อง จนเป็นสาเหตุหลักของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในรอบที่สาม
5ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
  • ไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต เปิดเผย ปกปิดการกระทำความผิดของตนเองและพวกพ้อง
  • ใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่แสวงหาผลประโยชน์ เพื่อตนเองและพวกพ้อง
  • ใช้อำนาจบิดเบือนการนำเสนอข้อเท็จจริง สร้างความแตกแยกในสังคม มุ่งประโยชน์ทางการเมืองมากกว่าสังคม
  • ปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนและสื่อมวลชน
6เฉลิมชัย ศรีอ่อน
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
  • ใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่แสวงหาผลประโยชน์ เพื่อตนเองและพวกพ้อง

การเตรียมการ

วันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2564 สุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานการประชุมร่วมกันระหว่างคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล ฝ่ายค้าน และตัวแทนจากคณะรัฐมนตรี เพื่อกำหนดวันประชุมสภาผู้แทนราษฎร โดยที่ประชุมได้ข้อสรุปร่วมกันถึงแนวทางการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลในเบื้องต้น โดยให้เปิดอภิปรายระหว่างวันที่ 31 สิงหาคม - 3 กันยายน และลงมติวันที่ 4 กันยายน โดยให้เวลาฝ่ายค้านอภิปรายไม่เกิน 40 ชั่วโมง และฝ่ายรัฐบาลไม่เกิน 18 ชั่วโมง 30 นาที รวม 58 ชั่วโมง 30 นาที[3]

ต่อมาพรรคเพื่อไทยได้มีคำสั่งพรรคที่ พท. 0762/2564 บังคับให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคทั้งหมด ต้องโหวตตามมติของพรรคคือไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีทุกคน หากใครฝ่าฝืนคำสั่งด้วยการไม่เข้าประชุมหรือโหวตสวนมติพรรค จะมีโทษถึงขั้นขับไล่ออกจากการเป็นสมาชิกพรรค[4] เหตุการณ์นี้ทำให้ เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2565 มองว่าอาจเป็นการขัดต่อมาตราที่ 124 วรรคหนึ่งของรัฐธรรมนูญไทย ตนจึงได้ส่งเรื่องให้คณะกรรมการการเลือกตั้งส่งเรื่องต่อไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อขอให้มีการวินิจฉัยว่าอาจเข้าข่ายต้องโทษยุบพรรคเพื่อไทย และเพิกถอนสิทธิการรับสมัครเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคหรือไม่[5] ด้านพรรคพลังประชารัฐได้มีการจัดเตรียมให้สมาชิกบางส่วนของพรรคเป็น องค์รักษ์พิทักษ์ประยุทธ์ พร้อมซักซ้อมคิวการประท้วงและการให้การสนับสนุนการดำเนินงานของนายกรัฐมนตรี ทางด้าน พล.อ.ประยุทธ์ เปิดเผยว่าตนพร้อมสำหรับการซักฟอกครั้งนี้และได้เตรียมการชี้แจงเป็นอย่างดีเช่นกัน[6]

ผู้อภิปราย

ในการอภิปรายครั้งนี้ วิปฝ่ายค้านได้เปิดเผยสัดส่วนการอภิปรายของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคต่าง ๆ ออกมาอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม โดยสุทิน คลังแสง ส.ส.จังหวัดมหาสารคาม พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า จะมี ส.ส. อภิปรายทั้งหมด 34 คน แบ่งเป็นพรรคเพื่อไทย 19 คน, พรรคก้าวไกล 13 คน, พรรคเสรีรวมไทย 3 คน, พรรคประชาชาติ 2 คน, พรรคเพื่อชาติ 1 คน, พรรคพลังปวงชนไทย 1 คน, นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ พรรคเศรษฐกิจใหม่ และนายมงคลกิตติ์ สุขสินธรานนท์ พรรคไทยศรีวิไลย์ โดยมุ่งเน้นไปที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และนายอนุทิน ชาญวีรกูล จำนวน 33 ชั่วโมง และรัฐมนตรีคนอื่น ๆ อีกคนละ 1 ชั่วโมงเศษ[7]

ใกล้เคียง

การอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีไทย มีนาคม พ.ศ. 2554 การอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีไทย สิงหาคม–กันยายน พ.ศ. 2564 การอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีไทย พ.ศ. 2565 การอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีไทย กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 การอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีไทย พ.ศ. 2552 การอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีไทย พ.ศ. 2553 การอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีไทย พ.ศ. 2563 การอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีไทย พ.ศ. 2555 การอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีไทย พฤศจิกายน พ.ศ. 2554 การอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีไทย พ.ศ. 2564

แหล่งที่มา

WikiPedia: การอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีไทย สิงหาคม–กันยายน พ.ศ. 2564 https://mgronline.com/factcheck/detail/96400000871... https://www.sanook.com/news/8437182/ https://www.sanook.com/news/8440846/ https://www.thansettakij.com/politics/493456 https://workpointtoday.com/politic-36/ https://workpointtoday.com/politics-91/ https://www.prachachat.net/politics/news-739389 https://www.prachachat.net/politics/news-750177 https://www.thaipost.net/main/detail/114637 https://www.thaipost.net/main/detail/115116